Categories
มุมหนังสือ

ปัญหาหนังสือล้นตู้เก็บหนังสือ

ผมเป็นคนที่ชอบซื้อหนังสืออยู่พอสมควร เวลาได้ไปห้างหรือไปที่ไหนๆ ที่มีร้านหนังสือก็มักจะแวะเข้าไปดูว่ามีหนังสืออะไรออกใหม่บ้าง เล่มไหนน่าสนใจบ้าง เพราะจริงๆ แล้วเราการที่เราแวะเข้าไปดูหนังสือออกใหม่นี้มีประโยชน์คือ บางครั้งได้หนังสือดีๆ ได้ไอเดียดีๆ แบบที่เราไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งก็จะเป็นการเปิดสมองรับสิ่งใหม่ๆ แบบไม่ซ้ำกับที่เคยสนใจมาก่อน

หนังสือที่ผมชอบซื้อก็จะเป็นไปตามยุคสมัยนิยมส่วนตัวของผมเอง เช่น สมัยปี 2000 ต้นๆ ช่วงกำลังเรียน ชอบเขียนเว็บไซต์ ทำเว็บขายของออนไลน์ ก็จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับการสร้างเว็บไซต์ การทำภาพประกอบเว็บไซต์ การจัดการด้าน SEO ต่างๆ ภาษาคอมพิวเตอร์สำหรับการเขียนเว็บไซต์ ซึ่งก็จะมีหนังสือมากมายลักษณะนี้วางขายในสมัยนั้น

ต่อมาช่วงปี 2010 หลังทำงานประจำได้สักพัก เริ่มหันมาสนใจการลงทุน หนังสือที่มักซื้อในช่วงนี้ก็จะออกแนวเกี่ยวกับการลงทุน หุ้น คริปโตฯ การวางแผนการเงิน รวมถึงอายุการทำงานก็มาถึงวัยกลางๆ ของการทำงานแล้วก็จะมีหนังสือเกี่ยวกับการทำงาน การพัฒนาตนเอง หรือด้านจิตวิทยา เพิ่มเข้ามา

เมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาของการชอบซื้อหนังสือก็มีนะครับ ไม่ใช่ว่าอ่านหนังสือแล้วจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะปัญหาที่ผมเจอคือ ตู้เก็บหนังสือไม่เพียงพอที่จะเก็บได้ทั้งหมดที่ซื้อมา ตอนนี้หนังสือของผมล้นตู้หนังสือออกมาวางกองซื้อกันนอกตู้ ตามที่ต่างๆ ในบ้าน วางนานๆ ก็เริ่มจะไม่เป็นระเบียบ ดูแลยาก เก่าเร็ว และเรียกว่าหนังสือเริ่มรกบ้านแล้วทีนี้

ทางเลือกในแก้ปัญหานี้คือ จะซื้อตู้เก็บหนังสือเพิ่มให้มากขึ้นเพื่อให้เก็บหนังสือได้ทั้งหมดหรือจะลดจำนวนหนังสือลงดีเป็นสิ่งที่ผมชั่งใจอยู่ อย่างไรก็ตามหนังสือที่เราตั้งใจซื้อมาเราก็รู้สึกเสียดายที่จะต้องทิ้งไป เพราะรู้สึกเหมือนว่ามีหนังสืออยู่ด้วยแล้วอุ่นใจ แม้ว่างบางเล่มไม่เคยได้หยิบมาเปิดเลยเป็นเวลาหลายปี

แต่หลังจากทบทวนอยู่พักใหญ่ ท้ายที่สุดผมเลือกทางออกที่จะจัดการกับปัญหานี้คือ เลือกที่จะลดจำนวนหนังสือลง ให้เหลือเฉพาะที่สามารถเก็บในตู้หนังสือได้ ก็โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการอ่านหนังสือนี่ล่ะ หนังสือที่ว่าก็คือ “อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป” ของคุณ Fumio Sasaki ที่เน้นถึงการมีแต่เพียงพอดี ไม่มากจนเกินความจำเป็นที่ต้องการ เพราะอะไรที่มากเกินจะสร้างปัญหาหลายอย่าง แต่สิ่งที่จะได้จากการ minimal ของปัญหานี้ก็คือ

  1. ประหยัดพื้นที่การวางตู้หนังสือ หากซื้อตู้หนังสือเพิ่มนั่นก็หมายความว่าจะต้องเสียพื้นที่ในบ้านเพื่อวางตู้หนังสือใหม่นี้อีก ตู้เดิมก็ยังอยู่ ตู้ใหม่ก็จะเข้ามา จะเปลืองพลังงานการดูแล ปัดเช็ดกวาดถู ซึ่งเป็นการเพิ่มงานในการทำงานบ้านระยะยาวเข้ามาอีก
  2. ถือโอกาสคัดเลือกไว้เฉพาะหนังสือที่จำเป็นจริงๆ ตามช่วงเวลาที่จำเป็นจริงๆ ในที่นี้ความหมายคือ ผมได้คัดแยกหนังสือที่สำคัญ จำเป็น ใช้บ่อย ออกจากหนังสือที่ตกรุ่น หนังสือที่อ้างอิงเนื้อหา ณ ปีก่อนๆ นานมาแล้ว หรือหนังสือที่เราไม่ได้ใช้แล้วออกจากกัน เพื่อให้หนังสือในตู้มีความทันสมัยพร้อมใช้ที่จำเป็นเท่านั้น
  3. หนังสือเก่าที่แยกออก ผมแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือ เก็บแยกประเภทไว้สำหรับบริจาคสำหรับแต่ละสถานที่และเก็บลงกล่องสำรองไว้ใช้เองก่อนกรณีต้องการใช้อีก นี่ก็จะเป็นทั้งการให้ประโยชน์ทั้งแก่ผู้อื่นที่อาจจะต้องการหนังสือแบบเดียวกับที่เรามีอยู่ และให้ประโยชน์กับตัวเองในการประหยัดเวลาและพลังงานในการดูแลหนังสือที่เหลืออยู่
  4. ความรู้จากหนังสือบางส่วน ผมพยายามสรุปรวบรวมและเขียนลงเว็บไซต์ ซึ่งแม้ว่าหนังสือเล่มนั้นอาจจะไม่อยู่แล้ว แต่แก่นเนื้อหาความสำคัญเราได้ทำความเข้าใจและเขียนสรุปไว้ในเว็บไซต์แล้ว ประโยชน์คือ ค้นหาได้ง่าย ไม่สูญหายและไม่ต้องใช้พลังงานในการดูแลรักษา ทั้งยังสามารถส่งต่อความรู้ให้กับผู้ที่สนใจศึกษาได้อีกด้วย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างและประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมยกมาเป็นตัวอย่างในการจัดการด้านหนังสือล้นตู้ หลักการ minimal นี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องต่างๆ ได้อีกมากมาย ทั้งที่บ้านและที่ทำงานครับ ลองเอาไปปรับใช้กันดูครับ

Categories
มุมหนังสือ

Google ขอเล่าบ้าง


เขาว่ากันว่าถ้าเราอยากเป็นแบบคนไหน ก็ให้ศึกษาหรืออ่านชีวประวัติของคนนั้นๆ ว่าเขามีความเป็นไปเป็นมาอย่างไรเขาถึงได้มาเป็นอย่างที่เราชื่นชอบ

Categories
มุมหนังสือ

กลับหัวคิด มองโลก 80%

ผมไม่แน่ใจว่าจะเรียกตัวเองว่าเป็น “นักอ่าน” หรือ “นักซื้อ” หนังสือกันแน่ เพราะว่ามันอดไม่ได้ที่เวลาไปห้างหรือเห็นร้านหนังสือแล้วจะต้องปรี่เข้าไปหาให้ได้ ไม่ว่าจะก่อนกลับหรือระหว่างกำลังจับจ่ายที่ห้างก็จะต้องขอแวะร้านหนังสือสักหน่อย โดยปกติก็จะซื้อแทบทุกครั้ง (มากกว่า 80%) ที่ได้เข้าร้านหนังสือ