Categories
เรื่องทั่วไป

การเตรียมตัวก่อนออกงานวิ่งฟันรันหรือวิ่งมาราธอน

นานมาแล้วละที่กีฬาวิ่งมาราธอน มินิมาราธอนหรือแม้แต่ฟันรันต่างๆ เป็นกระแสบูมในวงกว้าง แทบจะทุกวันหรือทุกสัปดาห์จะต้องมีงานวิ่งไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งเกิดขึ้น ยิ่งล่าสุดกระแส “ก้าวคนละก้าว” ของพี่ตูน บอดี้สแลมเมื่อช่วงปลายปี 2560 ยิ่งสร้างกระแสกับกีฬาวิ่งให้บูมขึ้นไปอีก

running

แต่สำหรับผมแล้ว นี่เป็นครั้งแรกสำหรับงานวิ่งที่ได้เข้าร่วมแบบเรียกว่าตกกระไดพลอยโจน คือไม่ได้ตั้งใจลงสมัครเอง เพราะพอแค่เห็นว่าเป็นงานวิ่งก็ไม่ต้องอ่านรายละเอียดต่อแล้วเพราะคิดว่าคงไม่ไปแน่ๆ ไหนจะต้องตื่นเช้า ไหนจะต้องซ้อมๆๆ รวมๆ แล้วอยู่เฉยๆ น่าจะดีกว่า

แต่จนแล้วจนรอดในที่สุด ก็มีเหตุอันจำจะต้องไปวิ่ง เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วการเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อให้ถึงเป้าหมายได้สำเร็จจึงต้องตามมาโดยอัตโนมัติ หาทางหลีกเลี่ยงได้ไม่

อันดับแรกเลย การเลือกรองเท้า
การเลือกรองเท้าวิ่ง ข้อนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ขอให้เป็นรองเท้าสำหรับวิ่ง (Running) เป็นใช้ได้ แต่เทคนิคหนึ่งสำหรับผมก็คือ อย่าเลือกคู่ที่ฟิตพอดีจนเกินไป ควรให้หลวมหรือมีที่ว่างกับเท้านิดๆ เพราะงานวิ่งส่วนมากจะเป็นการวิ่งระยะไกล การที่ต้องวิ่งลงเท้าด้วยน้ำหนักตัวเราเองเป็นระยะทางไกลๆ อาจจะมีอาการเท้าบวมนิดๆ เลือดลงเท้า ซึ่งหากตอนเลือกรองเท้าเลือกมาฟิตแน่นพอดี แต่เมื่อมาวิ่งจริงๆ อาจจะแน่นเกินไปได้

ข้อสอง การซ้อมก่อนลงสนามจริง
เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเราจะต้องลงสนามจริงๆ คราวนี้ก็มาถึงการเตรียมความพร้อมก่อนถึงวันจริงกันแล้วละครับ แก่นแท้หลักสำคัญของการซ้อมก็คือ “ถ้าเราซ้อมได้ระยะเท่าไร วันจริงเราก็จะวิ่งได้ระยะเท่านั้นล่ะ” เพราะฉนั้นแล้วการซ้อมที่ว่านี้ไม่ใช่แค่การซ้อมสั้นๆ หรือวิ่งชิลๆ เหมือนออกกำลังกายทั่วไป แต่เราต้องค่อยๆ เพิ่มระยะให้มากขึ้นในแต่ละวันที่ซ้อมจนได้ระยะเท่ากับหรือมากกว่าที่เราลงวิ่งไว้ เช่น ลง 10 กิโลเมตร ในการซ้อมก็จะต้องวิ่งให้ได้ถึง 10 กิโลเมตรด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วพอถึงวันจริงอาจจะไม่มีแรงให้ถึง 10 กิโลเมตรได้

ข้อสาม การเดินทางไปยังจุดสตาร์ท
ข้อนี้สำคัญมากๆ เลยนะครับ การทำความรู้จักกับสถานที่จัดงาน การวางแผนแผนที่ไม่ว่าจะเป็นจุดจอดรถ จุดลงทะเบียน โดยเฉพาะการเผื่อเวลาล่วงหน้า สำหรับตัวผมคิดว่าสัก 1 ชั่วโมงก่อนเวลาลงทะเบียนถือว่ากำลังดี เช่น ถ้าเปิดให้ลงทะเบียนตี 5 เราก็ควรไปถึงงานสักตี 4 จะทำให้มีเวลามากพอที่จะชิลๆ ไม่ต้องเร่งรีบ ทั้งเรื่องที่จอดรถ เดินดูของที่ขายในงาน วอร์มอัพร่างกายหรือแม้แต่เข้าห้องน้ำตอนเช้าให้เรียบร้อย ดังนั้น ข้อนี้เรื่องการเผื่อเวลานี่ถือว่าสำคัญมากๆ ครับ

ข้อสี่ ขณะกำลังวิ่ง
ข้อนี้ความสำคัญอยู่ตรงที่เราต้องประเมินกำลังของเราตามที่เราซ้อมมา ไม่จำเป็นต้องเร่งสปีดตามใครๆ เขา เพราะแน่นอนในงานเราจะต้องเจอกับมืออาชีพมากมาย แต่ละคนมีสมรรถนะในการวิ่งไม่เหมือนกัน ดังนั้น เป้าหมายของเราคือแข่งกับตัวเอง ไม่ใช่แข่งกับคนอื่น ไม่ต้องเร่งควบตามใครๆ เขา เดี๋ยวจะไม่ไหวจนต้องเรียกหน่วยพยาบาลแล้วจะพลาดเหรียญงานนั้นไปซะอีก

สำหรับมือใหม่ มือสมัครเล่นที่อาจจะยังไม่มี gadget สำหรับจับระยะทางหรือเวลาในการวิ่งที่ทันสมัย การใช้นาฬิกาธรรมดาจับเวลาวิ่งหรือดูจากนาฬิกาเรือนใหญ่ของงานว่าเราใช้เวลาเท่าไร อันนี้ก็ช่วยได้นะครับ แต่ต้องอย่าลืมดูเวลาด้วยละว่าใช้เวลาวิ่งไปเท่าไร เดี๋ยวจะมาสงสัยหรือเสียดายว่าเมื่อกี้ใช้เวลาวิ่งไปเท่าไรกันแน่

ข้อห้า หลังการวิ่งเสร็จ
เมื่อทุกอย่างผ่านไปด้วยดี กัดฟันวิ่งเข้าถึงเส้นชัยได้แล้ว ตอนนี้ทุกอย่างก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ถือว่าประสบความสำเร็จกับงานนี้แล้ว ช่วงนี้ก็จะเป็นช่วง warm down เก็บภาพความประทับใจ ถ้ามีเพื่อนๆ มาหลายคนก็เรียกหากันมาให้ครบ มาถ่ายรูป ร่วมกิจกรรมในงานกัน รับของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ กลับบ้านไปเป็นที่ระลึก

ทั้งหมดนี้เป็นเกล็ดเล็กๆ น้อยๆ จากงานวิ่งครั้งแรกของผมเองนะครับ อาจมีตกหล่นเรื่องไหนบ้าง รอผู้เชี่ยวชาญมาเสริมให้อีกทีครับ 🙂

Leave a Reply